สศก. เผย ผลโครงการส่งความสุขปีใหม่ กระทรวงเกษตรฯ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 64 ล้านบาท

ข่าวที่ 28/2567  วันที่ 6 มีนาคม 2567
 
สศก. เผย ผลโครงการส่งความสุขปีใหม่ กระทรวงเกษตรฯ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 64 ล้านบาท
            นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการประเมินผลโครงการส่งความสุขปีใหม่ มอบให้เกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567 ซึ่งดำเนินการระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ถึง 31 มกราคม 2567 โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 20 หน่วยงาน ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศร่วมกันบูรณาการ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้เกิดการใช้จ่าย สร้างรายได้ และลดรายจ่ายครัวเรือนให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม มีการส่งมอบผลิตภัณฑ์การเกษตรคุณภาพ ส่งมอบความสุขจากการเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สวยงาม พร้อมได้รับความรู้ด้านการเกษตรต่างๆ โดยโครงการฯ กำหนดเป้าหมายมีผู้ได้รับประโยชน์ 12,469,619 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ 58,634,300 บาท
           ภาพรวมจากการติดตามประเมินผลของ สศก. ผ่านการสำรวจข้อมูลออนไลน์จากผู้เข้าร่วมกิจกรรมและการรายงานข้อมูลจากทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ดำเนินกิจกรรม ประกอบด้วย 1) มอบของขวัญเกษตรกรไทย มีกิน มีใช้ มีรายได้พอเพียง ด้วยการดำเนินงาน อาทิ ให้ความรู้การใช้โปรแกรมตรวจสุขภาพทางการเงิน/การทำการเกษตรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้บริการจดทะเบียนเรือประมงเพิ่มเติม บริการตรวจสุขภาพสัตว์เลี้ยง บริการวิเคราะห์ดิน แจกพันธุ์พืช/พันธุ์สัตว์น้ำ/ไข่ไหมพันธุ์ดี ช่วยเหลือให้เข้าถึงปุ๋ยเคมีราคาถูก เปลี่ยนเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และการกระจายน้ำจากแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค 2) เพิ่มสุขปีใหม่ เที่ยวทั่วไทย สุขใจไปกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเปิดแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรในราคาสุดพิเศษหรือให้เยี่ยมชมฟรี และ 3) เสริมพลังปีใหม่ จำหน่ายสินค้าราคาพิเศษ สินค้าเกษตรคุณภาพ ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการซื้อขายสินค้าเกษตร ผ่านการเปิดตลาดนัด ณ สถานที่ตั้งของหน่วยงาน ช่องทางออนไลน์และร้านค้าของหน่วยงาน อาทิ Line Open chat: โครงการกระเช้า กสส. 2567 Rice Shop Fisherman Shop @Bangkhen และ Livestock Farm Outlet  เป็นต้น สำหรับกิจกรรมดังกล่าว สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ทั้งสิ้น 64,522,971 บาท (ร้อยละ 110 สูงกว่าเป้าหมาย) และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น 13,199,878 ราย (ร้อยละ 106 สูงกว่าเป้าหมาย) โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
          ด้านความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรม พบว่า มีความพึงพอใจต่อโครงการในระดับมาก โดยเฉพาะในด้านการให้บริการของเจ้าหน้าที่ ความเหมาะสมของสถานที่จัดกิจกรรม และความสะดวกสบาย/สิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ร้อยละ 91 อยากให้มีกิจกรรมทุกปีและจะมาเข้าร่วมกิจกรรมอีกในปี 2568 เนื่องจากได้รับความรู้ ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ และมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตการเกษตร
           ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเห็นว่า การจัดกิจกรรมในปีถัดไป ควรคำนึงด้านต่าง ๆ ดังนี้ 1) ด้านสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก ควรเลือกสถานที่ที่อยู่ใกล้กับถนนสายหลัก มีพื้นที่กว้างขวาง มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียงพอสำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม และจัดหาสินค้ามาจำหน่ายให้หลากหลายเพียงพอกับความต้องการ 2) ด้านการประชาสัมพันธ์ ควรประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ สื่อหลัก (โทรทัศน์/วิทยุ) เสียงตามสายในชุมชน และเครือข่ายเกษตรกร 3) ด้านระยะเวลาและวิธีการจัดกิจกรรม ควรขยายระยะเวลาให้นานมากขึ้น อาทิ ตลอดช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม และควรมีการออกให้บริการนอกสถานที่/ตามชุมชน/บ้านเรือนของเกษตรกร และประชาชนทั่วไปแทนการตั้งจุดให้บริการ และ 4) ด้านการสนับสนุนความรู้และปัจจัยการผลิต ควรให้ความรู้เพิ่มเติม อาทิ การทำการเกษตรสมัยใหม่และเทคโนโลยีการเกษตร วิธีการเพาะเลี้ยงปลา วิธีการใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้อง  อีกทั้งควรมีการถ่ายทอดความรู้แบบออนไลน์ รวมทั้งแจ้งช่องทางที่เกษตรกรสามารถขอรับการสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพิ่มเติมได้ภายหลัง เป็นต้น
************************************************
 


บราวเซอร์ที่รองรับ Chrome (แนะนำ) | Firefox | Exploer 9+ | Safari